1.ภาชนะที่ใช้ต้มน้ำกับเนยสดควรใช้ภาชนะที่เป็นเทฟล่อน หม้อเคลือบ หรือกระทะทองเหลืองเพราะขนมจะไม่ไหม้เร็วและมีสีสันสวยงาม ส่วนกระทะที่ไม่ควรใช้คืออลูมิเนียม เพราะจะทำให้ขนมมีสีไม่สวย และถ้าใช้สแตนเลสต้องคอยระวังเรื่องขนมไหม้ เพราะว่าสแตนเลสนำความร้อนได้ดี
2. สำหรับไฟที่ใช้ในการต้มน้ำควรใช้ไฟปานกลาง ต้มแค่ให้น้ำเดือดและเนยละลายจนหมด ไม่ควรตั้งน้ำเป็นเวลานานหรือใช้ไฟแรงมากเพราะจะทำให้น้ำระเหยออกไปมากเกิน ไป ทำให้แป้งเอแคลร์แห้งและแข็งได้ เนื่องจากมีความชื้นน้อยก็จะทำให้แป้งไม่พองตัวมากเท่าที่ควรในระหว่างการอบ
3. การเติมแป้งลงในน้ำเดือด ควรเติมครั้งเดียวจนหมด ใช้ไม้พายคนเร็วๆ เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน ถ้าเราค่อยๆไปเติมแป้งทีละน้อยๆ จะทำให้น้ำระเหยออกไปมาก
4.ขั้นตอนแรกของการกวนแป้งระยะแรกจะใช้ไฟ ปานกลางเพื่อให้แป้งสุก ในระยะที่สองจะใช้ไฟอ่อนกวนต่ออีกสักพัก เพื่อให้แป้งสุกใสเต็มที่และเกิดลักษณะการเป็นเจลเกิดขึ้น จะทำให้แป้งสามารถดูดน้ำจากไช่ไก่มากขึ้น และมีการพองตัวในระหว่างการอบมากขึ้น หรือทำให้เอแคลร์มีขนาดใหญ่ขึ้นในระหว่างการอบ
5.เมื่อแป้งเอแคลร์สุกแล้ว ไม่ควรใส่ไข่ในขณะที่แป้งยังร้อนจัดอยู่ เพราะจะทำให้ไข่สุก แป้งก็จะไม่พองตัวในระหว่างการอบ
6. แป้งที่สุกแล้วควรลดอุณหภูมิลง แล้วจึงค่อยใส่ไข่ทีละฟอง ถ้าแป้งเย็นเกินไปจะทำให้ไม่สามารถรับไข่ได้ครบเต็มตามจำนวนในสูตร หรือถ้าใส่ไข่ครบส่วนผสมก็จะเหลว ทำให้ขนมเมื่อนำไปหยอดแล้วแบนราบไม่พองตัว วิธีการแก้ปัญหาคือให้เริ่มทำใหม่อีกครั้ง แล้วให้นำส่วนผสมที่เหลวค่อยๆใส่ลงในตัวแป้งขณะที่ยังร้อนๆอยู่ แล้วจึงค่อยใส่ไข่ที่เหลือลงไป
7.อุณหภูมิของแป้งที่พอเหมาะจะทำให้สามารถอุ้มไข่ได้ทั้งหมดพอดี และส่วนผสมก็จะข้นพอดีไม่เหลวหรือข้นมากจนเกินไป
8.ในระหว่ารอการบีบ ควรหาแผ่นพลาสติกปิดหน้าขนมไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหน้าขนมแห้ง เพราะจะทำให้ขนมเมื่ออบแล้วจะไม่พองตัว
9.การทาถาดด้วยเนยขาวไม่ควรทามากจนเกินไปเพราะจะทำให้ขนมแผ่ตัวออกด้านข้าง และเมื่อนำไปอบแล้วจะทำให้ขนมแบน
10.ส่วนถาดที่ไม่ทาเนยเลย จะทำให้ขนมที่อบสุกแล้วจะมีลักษณะสวยงามดี แต่แซะออกจากถาดยากอาจทำให้ก้นขนมทะลุได้
11. ในการบีบเอแคลร์ลงบนถาด ไม่ควรบีบเพื่อรอเตาอบ เพราะจะทำให้ผิวหน้าขนมแห้งได้ และเมื่อนำเข้าเตาอบขนมจะไม่พองตัวและมีเปลือกแข็งที่หน้าขนมด้วย ดังนั้นเมื่อบีบขนมลงบนถาดแล้วควรเข้าเตาอบทันที
12.อุณหภูมิที่ใช้ ในการอบขนมเอแคลร์ จะต้องใช้อุณหภูมิสูงในตอนแรกประมาณ 450 องศาฟาเรนไฮด์ เพื่อทำให้ของเหลวที่อยู่ในตัวแป้งเดือดและกลายเป็นไอ ดันผิวหน้าของขนมให้พองตัวขึ้น ถ้าใช้อุณหภูมิต่ำเกินไปขนมก็จะไม่พองตัว ลักษณะของขนมที่ดีจะต้องพองตัวเต็มที่ แป้งข้างในเป็นโพรง ผิวหน้าด้านนอกแตกคล้ายดอกกะหล่ำ
13.เมื่อเอแคลร์พองตัวเต็มที่แล้ว และมีสีน้ำตาลสวยงาม ให้ลดอุณหภูมิลงให้เหลือประมาณ 375 องศาฟาเรนไฮด์ เพื่ออบให้โครงสร้างของขนมแข็งแรงดี ถ้าใช้อุณหภูมิแรงในการอบคราวเดียว เมื่อนำขนมออกจากเตาอบแล้วจะยุบตัว เพราะโครงสร้างของขนมยังไม่แข็งพอ ถ้าจะอบขนมต่อก็อาจไหม้ได้ ดังนั้นการลดอุณหภูมิในการอบระยะที่ 2 ของการอบจะช่วยให้โครงสร้างของขนมแข็งมากขึ้น และมีสีสันสวยงามน่าทาน และเมื่อนำออกจากเตาก็จะไม่ยุบตัว การยุบตัวของขนมนี้ไม่สามารถทำให้ขนมพองตัวได้อีก ไม่ว่าจะเอาเข้าเตาอบใหม่ก็ตาม
14.ขนมที่อบสุกแล้ว ควรทิ้งให้เย็นเสียก่อนจึงค่อยนำไปใส่ไส้ ถ้าใส่ไส้ในขณะที่เปลือกมันยังร้อนอยู่ จะทำให้เกิดไอน้ำในไส้ของขนมอันเป็นสาเหตุทำให้ขนมบูดเร็วมากขึ้น
15.ไส้ขนมที่ยังร้อนอยู่เมื่อใส่ลงเป็นไส้ก็เกิดปัญหาได้เหมือนกัน ทำให้เปลือกขนมแฉะ
16. เปลือกของเอแคลร์ที่ยังไม่ได้ใส่ไส้ ควรเก็บใส่ภาชนะที่ปิดสนิทและควรไว้ในตู้เย็น ถ้าเก็บในอุณหภูมิห้องจะทำให้แข็งและไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
17. การกวนไส้เอแคลร์ควรใช้ภาชนะเช่นเดียวกับการกวนแป้ง และควรใช้ไฟปานกลาง ถ้าใช้ไฟแรงเกินไปจะทำให้ไส้ไหม้เร็วเพราะในส่วนผสมนั้นมีนมเป็นส่วนผสมหลัก ทำให้ไหม้เร็วกว่าปกติ
18.ควรใช้ตะกร้อมือช่วยในการกวนไส้ การใช้ไม้พายกวนจะทำให้ส่วนผสมไส้เป็นเม็ด ไม่ละเอียด
19. ไส้ที่กวนเสร็จแล้วเมื่อยกลงจากเตาควรกวนต่อไปสักระยะหนึ่งเพื่อให้ส่วนผสม เย็นเร็วขึ้น เพราะไส้ที่ร้อนแล้วเราตั้งทิ้งไว้เฉยๆจนกระทั่งเย็น จะเกิดเป็นฝ้าแข็งที่ผิวหน้าของขนม ทำให้ไส้ที่ได้ไม่เนียน
20.ไส้ขนมมีอายุสั้น ถ้าเหลือใช้แล้วควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทแล้วเข้าตู้เย็นเก็บไว้ใช้ได้อีก
credit:thaiwebkit.com
0 ความคิดเห็น on "20 เทคนิคการทำขนมเอแคลร์"
แสดงความคิดเห็น